ประวัติของป้อมมาซาดาที่เป็นที่จดจำในหมู่นักประวัติศาสตร์และผู้ศึกษา ประวัติศาตร์ประการหนึ่งคือ การสังหารหมู่ของกบฏซิคารี ทั้ง 960 คน ระหว่างการกบฏครั้งใหญ่ของชาวยิว (The Great Revolt) เมื่อ ค.ศ. 66 ที่ใช้วิธีการจับสลากกันในกลุ่มของชายนักรบว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงดาบสังหาร เพื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องคมดาบของทหารโรมันที่กำลังรุกคืบเข้ามายังป้อมมาซาดา
กลุ่มกบฏซิคารีเป็นชาวยิวที่รวมใจกันต่อต้านอาณาจักรโรมันที่รุกรานเข้ายึด พื้นที่ถิ่นฐานของชาวยิวจนเมื่อมีการสร้างป้อมมาซาดา เพื่อใช้สังเกตการณ์การรุกรานของกองทัพโรมันที่ใช้ทะเลเดดซีเป็นเส้นทางผ่าน ชาวยิวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังอยู่รอด และใช้อาวุธทุกอย่างที่ขนขึ้นมาจากตีนเขา ทั้งหินก้อนกลมขนาดใหญ่เล็ก ถังบรรจุน้ำมันติดไฟ อาวุธยิงทั้งหลายไปหมดแล้ว แต่กองทัพทหารโรมันยังคงดาหน้าบุกขึ้นมา นักรบกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่จึงตัดสินใจตายพร้อมกัน
ชายทุกคนจะเขียนชื่อลงบนแผ่นดินเผาเล็กๆ นำมาใส่ไว้ในภาชนะ ใครที่จับชื่อเพื่อนได้ ก็ต้องทำหน้าที่เพชฌฆาตสังหารเพื่อนให้สิ้นชีพ พ้นภัยจากทหารโรมัน และทำเช่นนี้จนเหลือคนสุดท้ายที่ไม่สามารถสังหารตนเองได้ เนื่องจากผิดหลักศาสนา ที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่แสนโหดร้ายจากเงื้อมมือของทหารฝ่ายศัตรู
ประวัติเหล่านี้ได้รับการบันทึกและเก็บหลักฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์ป้อมมาซาดา ที่ตั้งอยู่บนตีนเขา ทางขึ้น-ลงเคเบิลคาร์ เมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศของจริงบนป้อมที่อยู่สูงกว่าระดับ น้ำทะเลราว 400 เมตรแล้ว ก็สามารถมาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุโบราณ สภาพความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์ของป้อมแห่งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ต่อจากนั้นชาวคณะก็กลับมายังตัวเมืองเยรูซาเลมเพื่อพักผ่อน อย่างที่เล่าไปแล้วว่าอากาศในนครเยรูซาเลมนั้นเย็นสบาย เย็นกว่ากรุงเทลอาวีฟอย่างเห็นได้ชัด ที่นี่จึงน่าเดินเที่ยวมากกว่ากันสักหน่อย อีกทั้งตัวเมืองยังแบ่งออกเป็น 2 โซน เมืองใหม่ กับเมืองเก่า แต่ทั้งสองแห่งก็ยังมีอารมณ์และกลิ่นอายของเมืองโบราณร่วมกันอย่างกลมกลืน
นอกจากนั้นบริเวณใจกลางเมืองช่วงที่ชาวคณะเดินทางไปนั้นยังมีเทศกาลแสงไฟ ที่จัดขึ้นในบริเวณสนามกีฬาโบราณกล้องcctv บรรยากาศคล้ายงานวัดผสมกับตลาดนัดในบ้านเรา มีสินค้าหลากหลายมาขายและมีการแสดงของศิลปินข้างถนนอยู่เป็นแห่งๆ มีการประดับประดาไฟทั่วพื้นที่สนามกีฬา ราวกับจำลองท้องฟ้าลงมาบนดิน เห็นหนุ่มสาว ครอบครัวทั้งชาวอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ และตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน พากันเดินชม ชิม ช็อปกันอย่างกลมเกลียว ไม่มีแบ่งแยกศาสนา แม้ว่าในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมานั้น บรรยากาศโดยรอบจะระอุไปด้วยไฟแห่งการปะทะระหว่างกลุ่มก่อการร้ายฮามาส ที่ใช้ดินแดนฉนวนกาซาเป็นที่มั่น กับกองทัพอิสราเอล ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาดินแดนและชีวิตของประชากรชาวยิว ราวกับจงอางหวงไข่
เช้าวันถัดมาหลังจากดื่มด่ำกับการแสดงแสงสีเสียงที่หอคอยแห่งดาวิด และเทศกาลแสงไฟ ในใจกลางนครเยรูซาเลมแล้ว ชาวคณะก็ต้องออกเดินทางอีกราว 30 กิโลเมตรไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอิสราเอลอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ สวนบาไฮ (Bahai Garden) ในเมืองท่าไฮฟา ของอิสราเอล ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความผสมผสานของศาสนาที่มาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบใน ที่แห่งนี้
สวนบาไฮถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว มีพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมเนินเขาคาเมล หรือเขาอูฐ แห่งไฮฟา ด้านที่หันหน้าเข้าหาทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นหนึ่งสวนสวยใน "บาไฮเวิลด์เซ็นเตอร์" (Bahai World Centre) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาบาไฮในเมืองไฮฟา ประกอบไปด้วยอาคาร 26 หลัง อนุสาวรีย์อีก 11 แห่ง รวมทั้ง "วิหารแห่งบาฮาอุลลาห์" (Shrine of Baha'u'llah) ในอาเครอ (Acre) และ "วิหารแห่งบับ" (Shrine of Bab) ในไฮฟา
ทั้งยังมีสวนสวยประดับด้วยต้นไม้หลากสีสันและรูปทรง ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พื้นที่นี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นรอบๆ โดยมีไกด์ในแต่ละภาษาเป็นผู้นำชมเพื่อความลึกซึ้งแห่งสัมผัสของสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
บาไฮ เวิลด์ เซ็นเตอร์ ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอิสราเอล แต่อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ ที่ส่งเจ้าหน้าที่และงบประมาณมาสนับสนุนการอนุรักษ์สวนสวยที่ยิ่งใหญ่ ถ้าจะเปรียบก็น่าจะเทียบกับสวนลอยแห่งบาบิโลนในยุคโบราณก็ว่าได้
ทริปท่องเที่ยวอิสราเอลของชาวคณะจากไทยแลนด์แดนสยามตามที่ได้รับเชิญ จากกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ก็เอวังด้วยบรรยากาศแห่งความปีติที่ได้ชมเมืองมรดกโลกที่ล้ำค่า ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และดินแดนที่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ยังคงถูกเขียนขึ้นทุกวัน ดินแดนที่เรียกว่า "อิสราเอล"
แหล่งที่มา : คมชัดลึก