นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่จริงจัง คิดแต่นโยบายเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง วิสัยทัศน์ปฏิรูปแม้มีอยู่บ้าง แต่ก็ขาดแรงสนับสนุน ขาดกลไกรองรับ ทำกันตามกระแสเท่านั้น เหมือนกรณีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กับ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก็ไม่มีฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลใดรับข้อเสนอไปทำเป็นเรื่องเป็นราว
“บรรดานักการเมืองที่ออกมาค้านเรื่องนี้ก็ต้องตอบสังคมเหมือนกันว่าในยุคที่ตนเองมีอำนาจเป็นรัฐบาล ได้ปฏิรูปอะไรกันบ้างกฎหมายดี ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมีบ้างหรือไม่ ส่วนกฎหมายลูกที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ถูกดองไว้ จนประชาชนเสียโอกาสที่เห็นกัน มีแต่จะแก้ จะรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองทั้งนั้น”นายสุริยะใส
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” จะเป็นการสืบทอดอำนาจสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.)ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ว่า โดยหลักการแล้วตนเห็นด้วย และคิดว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการปฏิรูปประเทศไม่ให้ขาดช่วง หรือถูกเว้นวรรคเพียงเพราะการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา ข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ ให้มีสภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น เป็นข้อเสนอที่สังคมควรพิจารณาเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปมีลมหายใจที่ยืนยาวและไม่ถูกบิดเบือน
นายสุริยะใส กล่าวว่า หลักการนี้เป็นทั้งหัวใจและเป็นหลักการสำคัญของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการปฏิรูปไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ต้องทำตลอดเวลา และมีความต่อเนื่อง มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพียงแต่ที่มาของกลไกทั้ง 2 กลไกนี้ จะต้องยึดโยงกับสังคมวงกว้าง และมีที่มาที่หลากหลายกว่านี้ สัดส่วนของ สนช.กับ สปช.รวมกันไม่ควรเกินกึ่งหนึ่ง เพราะอาจกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีว่าสืบทอดอำนาจเหมือนที่กำลังมีการตั้งข้อสังเกตของหลายฝ่ายอยู่ในขณะนี้ และอำนาจหน้าที่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับ ส.ส. และ ส.ว.ควรกำหนดเขตอำนาจหน้าที่ให้ชัดกว่านี้ มีความเป็นอิสระจากการเมือง ถูกกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบโดยสังคม ไม่ใช่เป็น “สภาของนักการเมืองสอบตก” หรือเป็น “สุสานข้าราชการประจำที่เกษียณอายุ”
แหล่งที่มา : เดลินิวส์