ต่อมาในช่วงค่ำ ผู้สื่อข่าวรายงานจากสายการบินนกแอร์ว่า เบื้องต้นสายการบินนกแอร์ได้แก้ไขปัญหาเที่ยวบินที่จะไปญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค.นี้ โดยนำเครื่องบินของพันธมิตรมาให้บริการทดแทนแล้ว ซึ่งผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วที่จะไปญี่ปุ่นสามารถเดินทางได้ตามปกติ ยกเว้นเที่ยวบินที่ XW908 เส้นทางบิน ดอนเมือง-คันไซ เวลา 05.25 น. ที่ต้องยกเลิกการบิน ส่วนเที่ยวบินเช่าเหมาลำหลัง วันที่ 31 มี.ค.58 สายการบินนกแอร์จะพยายามหาเที่ยวบินทดแทนมาให้ได้มากที่สุด
นายพาทีกล่าวต่ออีกว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น เบื้องต้นใน 2 สัปดาห์หน้า ถ้ากรมการบินพลเรือนของประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรฐานการบินตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศทักท้วงมาได้นั้น ทางสายการบินนกสกู๊ต จะมีการประสานงานกับกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น เข้ามาตรวจสอบมาตรฐาน เครื่องบินของนกสกู๊ตที่จดทะเบียนในประเทศไทยโดยตรงเลย อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการหาทางออกของนกสกู๊ต จะเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ เพราะหากรอให้กรมการบินพลเรือนแก้ฝ่ายเดียว ซึ่งไม่น่าจะแก้ได้ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมได้
ด้านนายเจริญ วังอนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ทัวร์ต่างๆต้องเตรียมเงินวันละประมาณ 20-50 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ไว้กับบริษัท แต่ไม่สามารถทำการบินได้ตามกำหนด เนื่องจากถูกสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไฟลต์ไป โดยแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินทางได้วันละประมาณ 1,000 คน ขณะที่ในส่วนของบริษัททัวร์แม้จะได้รับเงินมัดจำคืนจากสายการบินเฉลี่ยวันละ 20 ล้านบาท แต่ก็เชื่อว่าสายการบินต่างๆคงจะยังไม่คืนเงินให้กับบริษัททัวร์ทันที ขณะที่บริษัททัวร์ต้องจ่ายคืนเงินลูกทัวร์ไปก่อน ซึ่งแต่ละบริษัทมีสายป่านไม่เท่ากัน บางบริษัทที่สายป่านสั้น แค่ควักจ่าย 500,000 บาทก็แย่แล้ว การที่ต้องรวบรวมเงินจำนวนมากเพื่อคืนลูกค้าอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เชื่อว่าจะทำให้บริษัททัวร์ยืนได้อีกไม่เกิน 5 วัน หลังจากนั้นคงไม่มีเงินมาคืนลูกค้าได้อีก
นางสร้อยทิพย์ยังกล่าวถึงทางเกาหลีที่อาจมีมาตรการเดียวกันกับญี่ปุ่น ว่าเรื่องนี้ว่าอะไรเขาไม่ได้เพราะทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของไอซีเอโอ มีสิทธิ์ที่จะขอดูข้อมูลผลการตรวจสอบของไอซีเอโอ จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องแก้ไขปัญหาภายในให้ได้มาตรฐานสากล โดยขณะนี้กระทรวงได้ส่งแผนปฏิบัติการไปยังหน่วยงานดังกล่าวแล้วเพื่อให้พิจารณามาตรการต่างๆ ที่กรมการบินพลเรือนแก้ไขตามที่ไอซีเอโอกำหนดมา จึงต้องรอว่าจะมีการพิจารณาออกมาในรูปแบบใดต่อไป โดยแผนการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนนั้น ต้องการแยกฝ่ายกำกับดูแลสนามบิน ออกจากฝ่ายการออกใบอนุญาตสนามบิน เพื่อแบ่งแยกงานให้ชัดเจน หลังจากกว่าสิบปีที่ผ่านมามีผู้รับผิดชอบออกใบอนุญาตเพียง 11 คน เพื่อดูแลสายการบิน แต่ขณะนี้ต้องมีสายการบินดูแลกว่า 60 สายการบิน จึงไม่เพียงพอ ต้องเร่งปรับโครงสร้างของกรมการบินพลเรือน เพราะขณะนี้ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุการทำงานให้กลับมาช่วยงานอีกเป็นจำนวนมาก แต่หลายคนถูกภาคเอกชนดึงตัวไปช่วยงาน จึงต้องพิจารณาอัตรากำลังให้มีความพร้อม
“ยืนยันว่าจะปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนให้เสร็จก่อนเกษียณอายุการทำงานในเดือนกันยายนนี้ เพราะหากปล่อยให้มีปัญหายืดเยื้อออกไปอีก ยิ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือด้านการบินของไทย และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการร่วมมือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน ให้เป็นหน่วยงานอิสระ องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานพิเศษ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด เพื่อต้องการให้กรมนี้มีความคล่องตัวมากขึ้น” ปลัดหญิงกล่าว
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
Source: บ.ทัวร์ร้องจ๊าก บินญี่ปุ่นไม่ได้