ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่นางอมรากล่าวเปิดงานอยู่นั้น ได้มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้น โดยกลุ่มเมล็ดพริกและนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) รวมประมาณ 5 คน ออกมาชูสามนิ้ว บริเวณหน้าเวที พร้อมชูป้ายที่มีข้อความว่า “เลิกจ้าง กสม.” และได้มอบภาพการจับตัวนักศึกษาให้นางอมราด้วย โดยตัวแทนกลุ่มเมล็ดพริกให้เหตุผลว่า กสม.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศ และตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การทำงานของ กสม.ตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53 จนถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ย.57 กลับไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการอย่างตรงไปตรงมา เลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งในยามที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐทหารได้ การจัดงานวันนี้จึงเป็นการหลอกตัวเอง เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถึงจุดตกต่ำที่สุด ดังนั้นเราในฐานะผู้เสียภาษีจึงประกาศเลิกจ้าง กสม.
หลังจากนั้นก็ยังมีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ขึ้นรับรางวัลบนเวที ได้แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว และอ่านคำประกาศของกลุ่มว่ากลุ่มดาวดินจะไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีที่รัฐบาลหรือ สปช.จัดขึ้น เพราะเห็นว่า คสช.ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง และทางกลุ่มต้องการที่จะจัดเวทีประชาชนเอง เพื่อสะท้อนความอึดอัดของคนในสังคม และเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้จากเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้อง ต้องเข้ามาเจรจากับกลุ่มดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยแต่ไม่มีการจับกุมตัวแต่อย่างใด ก่อนที่กลุ่มดังกล่าวจะสลายตัวไป
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.ปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทยต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน”ตอนหนึ่งว่า สังคมไทยจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพและมีความเป็นธรรมที่เท่าเทียมกัน ปัจจุบันเรามีการถกเถียงกันมาก ระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิสาธารณะ ซึ่งต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกับการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน เราถกเถียงกันว่ากฎหมายห้ามการชุมนุมสามารถมีได้หรือไม่ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิบุคคลในการชุมนุม แต่ขณะเดียวกันการชุมนุมก็ไปกระทบสิทธิของสาธารณะซึ่งก็ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ประเด็นนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)คงนำไปพิจารณา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)คณะรัฐมนตรี(ครม.)มองว่าเราต้องยอมเสียสละสิทธิส่วนบุคคลส่วนหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมือง ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติก็มองว่าสิทธิส่วนบุคคล สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิทางการเมืองจะถูกละเมิดไม่ได้เด็ดขาด
"ข้อถกเถียงคงจะมีอยู่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เราคงต้องใช้วิจารณญาณว่าบางกรณีเราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิบุคคลเป็นหลัก แต่บางเรื่องก็ต้องคุ้มครองสิทธิสาธารณะ โดยยอมเสียสิทธิส่วนบุคคลบ้าง นอกจากนี้ความเสมอภาคเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจุดนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันคิดและปฏิบัติ"นางอมรา กล่าวเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 และ 2557 โดยรางวัลที่น่าสนใจคือรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ปี 56 จำนวน2 รางวัล ได้แก่ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดโปงเรื่องเครื่องจรวดระเบิดลวงโลกจีที 200 และนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มุ่งทำงานเพื่อชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”ปี 57 ได้แก่นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย ที่ทุ่มเทพัฒนาชนบทและคนชายขอบ นอกจากนั้นยังมีรางวัลเด็กและเยาวชน ได้แก่กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ที่ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคม และเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
แหล่งที่มา : เดลินิวส์