“ที่ผ่านมา ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้แอลพีจีราคาเดิมคือครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 90 หน่วย มีจำนวน 7.6 ล้านราย รัฐบาลจะให้ใช้ราคาเดิม (ถังละ 280-290 บาท) จำนวน 3 เดือนต่อ 1 ถัง และหาบเร่แผงลอยที่ลงทะเบียน 280,000 รายให้ใช้ราคาเดิมไม่เกิน 10 ถัง แต่ปรากฏว่ามาใช้สิทธิ์น้อยมาก โดยภาคครัวเรือนมาขอใช้สิทธิ์ 1-2% หาบเร่ แผงลอยอาหาร มาขอใช้สิทธิ์ 20% แต่ขณะนี้ราคาถังละ 90-100 บาท ทำให้กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยเริ่มสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะหาบเร่รายใหม่ๆ ที่ไม่เคยลงทะเบียนเริ่มสอบถามมากขึ้น
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (แอลพีจี) อีกกิโลกรัม (กก.) ละ 1.03 บาท หรือจาก กก.ละ 23.13 บาท เป็น 24.16 บาทนั้น กรมฯได้วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ พบว่า จะทำให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จและก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นจานละ 30 สตางค์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่ร้านค้าจะฉวยโอกาสปรับราคาอาหารสูงถึงจานละ 5-10 บาท อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาอาหารอย่างเข้มงวด หากพบว่าร้านค้าใดปรับขึ้นราคาแบบไม่มีเหตุผล จะเชิญมาแจงต้นทุน หากยังฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนภาคขนส่ง ที่ขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีอีก กก.ละ 1 บาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า เพราะรถบรรทุกส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล จึงไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างปรับขึ้นราคาสินค้าในภาพรวมได้ อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมัน ดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการบรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ของประเทศ ได้ปรับลดลงเหลือลิตรละ 28.39 บาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าหลายประเภทได้รับอานิสงส์จากต้นทุนการขนส่งที่ลดลงมาก
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
Source: พาณิชย์จ้องฟันพ่อค้าข้าวแกง ชาวบ้านแห่ขอใช้สิทธิ์ซื้อก๊าซหุงต้มราคาเดิม