ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การให้แก้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...ที่ ครม.อนุัมติในครั้งนี้จะช่วยให้การออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ให้กับลูกหนี้ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาว่า หากบริษัทได้รับงานจากรัฐบาลจะต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขอีกครั้ง อาจจะสร้างปัญหาต่อการรับงานในโครงการลงทุนของรัฐบาลในระยะต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากนั้น ครม.วันที่ 9 ธ.ค.2557 จึงมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับไปพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนจากธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย โดยทางธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องให้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ำประกันและการจำนอง โดยร้องเรียนว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาแล้วนั้น จะทำให้การทำธุรกรรมไม่สะดวก และมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาอีกรอบก่อนเสนอ ครม.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจากการหารือเห็นสมควรให้แก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนอง
ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ได้ระบุให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันและจำนองที่ไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นต้น โดยกำหนดให้ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเข้าใจว่าครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินในการค้ำประกันที่เป็นปกติธุระด้วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ จึงกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งให้ สามารถทำข้อตกลงล่วงหน้าให้ยินยอมให้ผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ
พร้อมกันนี้ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงิน หรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้ ทั้งนี้ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำไว้ก่อน โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ.2558 นี้
ทั้งนี้ การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีบรรดานายธนาคารออกมาท้วงติงว่าร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2557 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ.2558 มีประเด็นทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกัน และส่งผลให้มีปัญหาในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ ทำให้มีการหยิกยกเรื่องดังกล่าวเข้ามาพิจารณาใน ครม.อีกครั้ง
ครม.เห็นชอบแก้ไขเรื่องการค้ำประกันและการจำนอง ภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากนายแบงก์ออกมาระบุว่าทำให้ธุรกรรมการเงินเสียหาย ไม่กล้าปล่อยกู้ เพื่อให้สถาบันการเงินออกหนังสือค้ำประกันงานรัฐได้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ำประกันและการจำนอง ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
Source: ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ค้ำหนี้ หวั่นวงการการเงินเสียหาย-งานรัฐไปไม่รอด