วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

อลงกรณ์หนุนดึงต่างชาติร่วมถกรธน.ปฏิรูป

1025078ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ถือเป็นประโยชน์ ไม่มีนัย เพราะเป็นรูปแบบให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเปิดโลกทัศน์ ปรับเปลี่ยนมุมมองมากกว่า ไม่เสียหายอะไร ไม่ใช่การเอาของต่างชาติมาเป็นหลัก จะปฏิบัติตามหรือไม่ ถือว่าเป็นอิสระของประเทศเรา

 

ทางด้านนายวันชัย สอนสิริ โฆษกวิป สปช. กล่าวว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้เตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการปรับปลี่ยนแนวทางการอภิปรายของสมาชิก สปช. และคณะกรรมาธิการปฏิรูป ทั้ง 18 คณะใหม่ ให้ประธานคณะกรรมาธิการฯ แต่ละคณะ อภิปรายได้คนละไม่เกิน 30 นาที และกรรมาธิการที่เหลือคนละไม่เกิน 15 นาที และหากสมาชิก สปช.แสดงความจำนงอภิปรายน้อยกว่า 208 คน ก็อาจเพิ่มเวลาให้กรรมาธิการเป็น 20 นาทีได้ โดยสมาชิกที่สนใจที่จะอภิปรายในประเด็นต่างๆ สามารถลงชื่อได้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันนี้ (17 เม.ย.) จนถึงเวลา 09.00 น. วันที่ 20 เม.ย. โดยการอภิปรายจะต้องระบุหมวดหมู่ และเรื่องที่จะอภิปรายให้ชัดเจน จากนั้นจะจับสลากรายชื่อสมาชิกที่จะได้อภิปรายตามลำดับก่อนหลัง เพื่อให้การรับฟังของประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดความสับสน

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงว่า สปช.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัธรรมนูญแล้ว เมื่อเวลา 07.49 น.วันนี้ โดยสมาชิก สปช.สามารถมารับร่างรัฐธรรมนูญ ได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ขณะที่การประชุมเพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ จะมีขึ้นในวันที่ 20-26 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00 -21.00 น. ยกเว้นวันที่ 23 เม.ย. ที่จะเริ่มช่วงบ่าย เพราะติดการประชุมของ สนช. ภาพรวมจะใช้เวลา 7 วัน 7 คืน รวม 79 ชั่วโมง กมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 15 ชั่วโมง ในการแถลง ชี้แจง และตอบข้อซักถามของ สปช. จากนั้นจะมีการจัดทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก ภายใน 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ซึ่งสมาชิก สปช.ทุกคน จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงประชาชนที่มีข้อเสนอแนะก็สามารถส่งความเห็นมายัง สปช.ได้

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ประธาน สปช.ต้องการให้ประชาชนและสาธารณชนได้รับรู้ถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้ให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสภา สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และขอความร่วมจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐในการถ่ายทอดด้วย ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์ของเอกชน หากสนใจสามารถเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดสดได้เช่นกัน เชื่อว่าการพิจารณาของ สปช.จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การถล่ม หรือชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสภาวิชาการไม่ใช่สภาการเมือง ทั้งนี้ประเด็นที่คาดว่าสมาชิกให้ความสนใจอภิปรายมากเป็นพิเศษ คือเรื่องการเมือง ทั้งที่มาของ ส.ส. ส.ว. และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งระบบเลือกตั้ง

แหล่งที่มา  :  เดลินิวส์

Source: อลงกรณ์หนุนดึงต่างชาติร่วมถกรธน.ปฏิรูป